จินตนาการเด็กต้องสร้างผ่าน "หนังสือ" ไม่ใช่แท็บเล็ต!

จินตนาการเด็กต้องสร้างผ่าน "หนังสือ" ไม่ใช่แท็บเล็ต!

 

     หนังสือภาพสำหรับเด็ก (Picture book for children) คือหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง ขณะที่เด็กฟังเสียงผู้ใหญ่นั้น สายตาของเด็กจะไล่ดูภาพในหนังสือตรงหน้า หากเป็นหนังสือภาพที่ดีแล้ว ภาพในสายตาของเด็กกับเสียงของผู้ใหญ่อ่านให้ฟังจะผสานกลมกลืนจนเกิดเป็นภาพต่อเนื่องเคลื่อนไหวในสมองเด็ก ซึ่งจะช่วยสร้างพลังจินตนาการได้เต็มเปี่ยม
       
       หนังสือภาพที่ดีสำหรับเด็กวัย 4 - 6 ขวบคือหนังสือที่ภาพและเรื่องประสานกลมกลืนกันดี หากภาพและเรื่องไม่ประสานกัน เด็กจะไม่มีอารมณ์ร่วมกับหนังสือภาพเล่มนั้น เวลาเด็กดูหนังสือภาพมิได้ดูอย่างคนภายนอก แต่สมมติตัวเองเป็นตัวละครหนึ่งในเรื่อง และเข้าไปอยู่ในเรื่องด้วย ดังนั้นเรื่องที่ได้ยินจากหูต้องเป็นภาษาและจังหวะที่ประสานกับภาพ ซึ่งเด็กมองดูด้วยตา
       
       ดังนั้นภาพของหนังสือภาพเพื่อเด็กที่ดี ต้องเป็นภาพที่เล่าเรื่องได้ เมื่อพลิกดูภาพโดยไม่อ่านคำบรรยายก็เข้าใจโครงเรื่องทั้งหมด ศิลปินผู้วาดภาพที่ดีจะเน้นที่รายละเอียด แม้คำบรรยายไม่มีระบุไว้ ศิลปินก็ส่งภาษาถึงเด็กด้วยภาพ ซึ่งเด็กจะชอบหนังสือภาพแบบนี้มาก
       
       เลือกหนังสือภาพอย่างไร สำหรับเด็ก 4 - 6 ขวบ
       
       เมื่อเด็กอายุ 4 ขวบ ความสามารถทางภาษาของเด็กจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ความชอบของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน การเลือกหนังสือภาพจึงยากขึ้น เด็กวัยนี้เป็นวัยแห่งการสร้างพื้นฐานด้านจินตนาการสร้างสรรค์ เมื่อเด็กฟังนิทานทางหูและเข้าไปอยู่ในโลกของนิทาน ในหัวก็จะวาดภาพไปตามเรื่องราวที่ได้ยิน
       
       ภาษาเล่าเรื่องเป็นภาษาที่มองด้วยตาไม่เห็น แต่เมื่อเด็กได้ฟังนิทาน ภาพของตัวละครในนิทานจะปรากฏขึ้นได้เด็กเห็นอยู่ในหัว แม้ว่าตรงหน้าเด็กจะไม่มีอะไรเลย แต่พลังของเรื่องราวที่เด็กได้ยินจะทำให้เด็กวาดภาพขึ้นเองในสมองได้
       
       ความสามารถของเด็กในการวาดภาพขึ้นเองในสมองจากภาษาซึ่งมองด้วยตาไม่เห็นนี้ คือพลังจินตนาการสร้างสรรค์ ซึ่งจะกลายเป็นพลังเรียนรู้จากการอ่านหนังสือในอนาคต หากเด็กไม่มีประสบการณ์ในการฟัง รับรู้ และวาดภาพจินตนาการขึ้นเอง รู้จักแต่วิธีประสมอักขระ และการอ่านหนังสือออกตามตัวอักษร เด็กอ่านหนังสือออกก็จริง แต่อ่านไม่เข้าใจลึกซึ้ง
 
       การให้เด็กเล็กอ่านหนังสือเองและวาดภาพในสมองขึ้นเองตามคำบรรยายที่เด็กต้องพยายามอ่านเองนั้น เป็นงานที่ยากและหนักมาก ถ้าหากผู้ใหญ่เป็นผู้อ่านให้ฟัง เด็กฟังเรื่องราวทางหู ส่วนสายตาก็ไล่ดูภาพในหนังสือภาพไปตามคำบรรยาย และวาดภาพที่เหลือขึ้นเองในหัว เด็กจะเข้าใจได้ง่ายกว่า และวิธีการนี้ช่วยให้เด็กสร้างพลังจินตนาการได้ดีกว่าด้วย
       
       เมื่อเด็กๆอายุเพิ่มเป็น 5 - 6 ขวบ เด็กในวัยนี้ชอบหนังสือภาพนิทานและเรื่องเล่าที่ยาวขึ้น เด็กต้องการฟังนิทานมาก แต่ไม่ควรซื้อหนังสือภาพนิทานให้มากมายจนอ่านแทบไม่ทัน บางครั้งเด็กก็อยากให้อ่านหนังสือภาพนิทานเล่มเดียวทุกคืน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ติดต่อกันหลายสัปดาห์ แสดงว่าเด็กชอบนิทานเล่มนี้มากเป็นพิเศษ และการค้นหาหนังสือที่ชอบมากเป็นพิเศษนี้ นับว่ามีความหมายมากต่อเด็ก เปรียบได้กับการค้นพบขุมทรัพย์อันล้ำค่าทีเดียว
       
       พ่อแม่ผู้อ่านอาจรู้สึกเบื่อ ที่ต้องอ่านเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ขอให้อดทนอ่านเพื่อลูก เด็กบางคนจดจำคำบรรยายอันยาวเหยียดได้ทั้งเล่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ซึ่งประสบการณ์นี้ เด็กจะไม่ได้รับในโรงเรียน แม้แต่ในชั่วโมงสอนภาษา ก็สอนเด็กไม่ได้ลึกซึ้งฝังใจเหมือนภาษาของหนังสือนิทาน
       
       อย่างไรก็ดี หนังสือภาพเพื่อเด็กมิใช่หนังสือที่ให้ประโยชน์ต่อเด็กในทันที แต่เป็นหนังสือที่ให้ความสุขและความสนุกแก่เด็ก และช่วยจุดประกายความสนใจหนังสือขึ้นในใจเด็ก หนังสือภาพเพื่อเด็กมิใช่หนังสือสำหรับเด็กอ่านเอง แต่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง เป็นสื่อกลางสร้างความสุขในครอบครัว และสร้างพื้นฐานด้านมนุษยสัมพันธ์ให้เด็ก
       
       หนังสือภาพที่เด็กชอบมาก ควรอ่านให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่าที่เด็กร้องขอ เพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างความสามารถในการอ่านและพลังทางภาษา เมื่ออ่านหนังสือภาพจบแล้ว ไม่ต้องตั้งคำถามหรือทดสอบความเข้าใจลูกเหมือนครูในโรงเรียน นอกจากลูกจะถามขึ้นเองจึงอธิบายให้ฟัง
       
       แม้ว่าเด็กจะได้ฟังนิทานจากโรงเรียนอนุบาลทุกวันแล้วก็ตาม ความสุขที่เด็กได้รับก็ไม่เหมือนการนั่งบนตักพ่อแม่และฟังนิทานจากหนังสือภาพที่พ่อแม่อ่านให้ฟังด้วยความรัก ห้วงเวลานี้เป็นเวลาที่หัวใจเด็กเปิดกว้าง รับฟังเสียงของพ่อแม่และรับรู้ความรักของพ่อแม่อย่างเต็มเปี่ยม พ่อแม่ไม่ควรละเลยเวลาอันมีค่ายิ่งนี้ แม้ธุรกิจการงานจะมากสักเพียงใด ก็ต้องสละเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างน้อยวันละ 5 - 10 นาทีก็ยังดี แล้วพ่อแม่จะได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าในอนาคตค่ะ
       
       ประโยชน์ของหนงสือภาพนี้ ผู้มีอำนาจในประเทศบางส่วนที่เร่งจัดซื้อแท็บเล็ตควรอ่านซ้ำหลาย ๆ รอบค่ะ
       
       ขอบคุณเว็บไซค์ผู้จัดการออนไลน์ และข้อมูลบางส่วนจากมูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก สมาคมไทสร้างสรรค์